เติมเกม คืออะไร เกี่ยวอะไรกับดราม่า Diablo Immortal
การ เติมเกม คงเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับใครหลาย ๆ คนที่ไม่เคยเติมเกมมาก่อน แต่รู้หรือไม่ว่าหากได้ลองเติมเกมครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปจะไม่ใช่เรื่องยากและแถมมีแนวโน้มที่เราจะเติมเงินถี่ขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย ซึ่งล่าสุด Diablo Immortal รู้ถึงจุดอ่อนของผู้เล่นตรงนี้และได้นำกลยุทธ์ทุกทางที่จะดึงขึ้นออกจากกระเป๋าตังค์ผู้เล่นได้แบบทุกบาททุกสตางค์ แต่ดูเหมือนว่าการกระหายเงินในครั้งนี้จะเลยเถิดไปใหญ่ เพราะมีกระแสต่อต้านเกมออกมากมาย รวมถึงต่อต้านระบบเติมเกมด้วยว่ามันทำลายกลิ่นอายของความเป็น Diablo Immortal ไป เป็นเพียงการจ่ายเงินเพื่อชนะเท่านั้น (Pay to win) ไม่ได้เป็นการวัดฝีมือของผู้เล่นแต่อย่างใด
โดยในวันนี้เราจะมาพูดถึงเจ้าระบบ “ เติมเกม ” เจ้าปัญหา ว่ามันมีวิธีการใดบ้างที่จะดึงเงินของผู้เล่นออกมาได้มากมายมหาศาลจนเกิดเป็นดราม่าครั้งนี้ได้ แล้วเหตุใดทั้งที่ต้องเสียเงินมากมายขนาดนั้น ผู้เล่นบางส่วนก็ยังคงยอมที่จะเติมเกมต่อไป ก่อนอื่นเริ่มจากการแนะนำเกม Diablo Immortal เวอร์ชั่นโทรศัพท์ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนนี้กันเสียก่อน

Diablo Immortal เกมแห่งการดูดเงิน
เท้าความถึงที่มาที่ไปของเกม Diablo Immortal กันก่อน เกมนี้เป็นเกมแบบ Hack & Slash RPG (Role-playing game) คือเกมที่ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครในเกม เดินฆ่าฟันรันแทงมอนเตอร์ภายในเกมเพื่อเพิ่มเลเวลตัวละคร เพิ่มทักษะพิเศษ รวมถึงสะสมไอเท็มใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความเก่งกาจให้ตัวละคร โดยเกมนี้ได้เปิดตัวในเวอร์ชั่นโทรศัพท์โดยค่าย Blizzard ในงานเปิดตัวเกมที่ชื่อว่า Blizzcon ซึ่งเกมก็ได้รับกระแสตอบรับที่แย่สุด ๆ เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้เล่น PC และ Console

แต่ก็อย่างที่ทุกคนอาจจะทราบว่าตลาดเกมโทรศัพท์นั้นใหญ่กว่าตลาด PC และ Console รวมกันเสียอีก ทั้งนี้ทีมผู้พัฒนาที่ได้รับหน้าที่ดูแลโปรเจ็คนี้ไปนอกจากตัว Bizzard Entertainment เองแล้วนั้น ยังมีบริษัทสัญชาติจีนอย่าง NetEase, Inc. เข้ามาดูแลอีกด้วย สายเกมเมอร์หลาย ๆ คนแค่ได้ยินชื่อบริษัทนี้ก็คงทราบถึงชื่อเสียงเรียงนามและความสามารถในการดึงเงินจากกระเป๋าผู้เล่นกันมาแล้วอย่างแน่นอน ก็จริงอยู่ว่าการเติมเงินในเกมนั้นเป็นเรื่องปกติทั่วไป ยิ่งโดยเฉพาะเกมที่มาจากจีนเองล้วนทำแบบนี้ทั้งสิ้น เพราะได้เงินเยอะกว่าระบบ license แถมยังสามารถกินรายได้แบบยาว ๆ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรมากมายให้ปวดหัว
แต่ด้วยเหตุนี้เองแฟนเกมจึงไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะมันจะทำให้เกม Diablo นั้นต้องแปดเปื้อนและเสียตัวตนไป พวกเขาต่างรู้ดีว่าหากมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป จิตวิญญาณของเกมจะหายไปเสมอ ที่จริงแล้วนีไม่ใช่ครั้งแรกที่ Blizzard Entertainment โดนต่อต้านจากการใช้ระบบเติมเงินที่หนักหน่วงมากเกินไป แต่ในครั้งก่อนหน้านั้นทางบริษัทแก้ปัญหาโดนการเอาระบบที่เป็นปัญหาออกไปเลย
ในทางกลับกัน ดูเหมือนว่าครั้งนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะต่อให้ได้รับรีวิวด้านลบมากเพียงใดแต่ทางบริษัทไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไรนัก เนื่องจากมูลค่าตัวเงินที่สามารถทำได้หลังจากเปิดตัวออกไปมีมูลค่ามหาศาลที่เรียกว่า ยอมโดนด่าก็ได้ถ้าได้เงินมากมายครั้งนี้ หลาย ๆ คนมองว่าแบบนี้มันก็คือการทำ Microtransaction อย่างโจ่งแจ้งโดยไม่เคารพผู้เล่นเลย เป็นระบบเกม Pay to win ที่ไม่เอื้อผู้เล่นไร้คุณทรัพย์ แม้ว่าคุณจะพยายามมากแค่ไหน แต่หากไม่เติมเกม คุณก็จะไม่มีวันเทียบเท่าคนที่เติมเกมได้แน่นอน

Microtransaction คืออะไร? ทำไมคนเกลียด
ที่จริงแล้ว Microtransaction มีอีกหลายชื่อให้เรียก คุณอาจเรียกว่า In-App Purchased, In-game purchased หรือ ระบบ“เติมเกม” ที่เราชาวไทยชอบพูดติดปากกันก็ได้ ถ้าอธิบายให้เป็นภาษาคนมากขึ้น มันคือระบบที่เราต้องใช้ “เงินจริง” เพื่อซื้อของภายในเกมนั่นเอง แล้วระบบนี้พึ่งเกิดขึ้นไม่ได้นานหรือ? ทำไมถึงพึ่งจะมีปัญหาตอนนี้? อันที่จริงแล้วระบบ เติมเกม มีมาตั้งแต่ช่วงที่ เกมบน PC ออนไลน์ เริ่มเป็นประแสในช่วงปลายปี ค.ศ. 1990 แล้ว ในช่วงนั้นก็จะนิยมใช้ในเกมประเภท Massive Multiplayer Online Role Playing Game (MMORPG) เป็นส่วนใหญ่ อาทิ Rangnarok, Warcraft, Pangya เป็นต้น สาเหตุที่เกมพวกนี้เป็นที่นิยมของระบบเติมเกมมากนัก เพราะเกมเหล่านี้มักเป็นเกมที่สามารถทำอะไรก็ได้ เป็นเกมที่เปิดโอกาศและจินตนาการของผู้เล่นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตามพอเข้าช่วงปี ค.ศ. 2010 เป็นปีที่ PlayStation และ Xbox เริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกของเกมเมอร์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เมื่อก่อนนั้นระบบเติมเกมจะใช้กับเกมที่เป็นระบบผู้เล่นหลายคนเท่านั้น แต่คราวนี้ผู้ผลิตเริ่มนำระบบเติมเกมมาใช้กับระบบเกมแบบเล่นคนเดียวด้วย นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของสงครามพันปีระบบ เติมเกม เพราะสาเหตุที่เอาระบบเติมเกมมาใส่ในเกมสำหรับเล่นคนเดียวนั้นมันไม่สมเหตุสมผลเลยแม้แต่นอน เราจะเติมของ ซื้ออุปกรณ์เทพ ๆ ไปทำไมในเมื่อเราไม่ได้ต้องแข่งขันกับใคร อีกปัญหาหนึ่งคือพอมีระบบเติมเกมเข้ามา ทีมผู้ผลิตเริ่มตั้งใจที่จะทำให้โครงสร้างของเกมไม่สมเหตุผลมากยิ่งขึ้น ปรับตรงนั้นนี้ ตรงนี้หน่อย ให้ผู้เล่นรู้สึกว่าถ้าจะไปถึงเป้าหมายได้จะต้องเติมเกมเสียก่อน
เท่านั้นยังไม่พอ ในปัจจุบันยังมีสิ่งที่เรียกว่า “กล่องสุ่ม” หรือ Loot Box อยู่ด้วย เจ้าระบบนี้เองเป็นส่วนหนึ่งของการ เติมเกม เพราะคุณจะต้องใช้เงินจริงเพื่อซื้อมันมา โดยที่คุณไม่รู้เลยว่าสิงที่คุณจะได้มาคืออะไร ด้วยเหตุนี้เองเจ้ากล่องสุ่มจึงถูกพิจารณาว่าเป็นการพนัน ด้วยเงื่อนไขที่คลุมเครือไม่ชัดเจน อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยมเองก็ล้วนระบบกล่องสุ่มแล้วเรียบร้อย และอังกฤษกำลังตามมาติด ๆ

ทำไมระบบ เติมเกม จึงถือกำเนิดขึ้น?
ทุกคนต่างชื่นชอบที่เกมได้พัฒนาไปเรื่อย ๆ จากกราฟฟิคที่เป็นบล็อค ๆ ภาพแตก ๆ เหมือนเกม minecraft จนถึงปัจจุบันที่การเล่นเกมเหมือนการดูหนัง blockbuster ชั้นดีเลยก็ว่าได้ แต่ทุกคนรู้ไหมว่าราคาของตัวเกมที่วางขายในตลาดนั้นแทบไม่เคยขยับขึ้นเลย และมีแนวโน้มว่าจะถูกลงในบางช่วงเวลาเสียด้วยครั้ง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาคือค่าต้นทุนในการผลิตเกม ค่าทำการโฆษณา ค่าการทำการตลาดเพื่อให้ได้ฐานผู้เล่น และอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ เพื่อกลบลบต้นทุนและทำกำไรให้ได้ แนวคิดการ เติมเกม จึงได้กำเนิดขึ้นมาเพื่อให้อุตสาหกรรมเกมไปต่อได้ แต่ถึงกระนั้นทางผู้เขียนเชื่อว่ามันยังคงมีวิธีการอื่น ๆ ที่สามารถทำได้เช่นกัน และในระหว่างนี้ที่ระบบเติมเกมอยู่คงดำเนินอยู่ หากเกมไหนไม่ได้เอาเปรียบผู้เล่นจนเกินไปอย่าง Diablo Immortal ก็อย่าลืมที่จะสนับสนุนทีมผู้ผลิตกันด้วยนะ